'ริวกิ้นไทย-จีน' ความสัมพันธ์ที่ไม่สัมพันธ์


ในแวดวงปลาทองนั้น 'ริวกิ้น' ถูกขนานนามว่าเป็น 'ราชานี' แห่งปลาทองไซด์วิว (side view) กล่าวคือเป็นปลาทองที่สวยที่สุดโดยเฉพาะการเลี้ยงในตู้เพื่อชมความสวยงามจากด้านข้าง


ว่ากันว่าริวกิ้นนั้นมีต้นสายมาจากปลาทองวะคินของจีน และประเทศญี่ปุ่นได้นำมาพัฒนาสายพันธุ์อย่างแพร่หลายในช่วงปี ค.ศ.1772-1788 จนเกิดเป็นปลาทองริวกิ้นในเวลาต่อมา และโด่งดังมากขึ้นเมื่อมันถูกนำไปจัดแสดงในงาน World Expo ที่จัดขึ้นในเมืองชิคาโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1893 งานในครั้งนั้นถือเป็นการเปิดตัวปลาทองริวกิ้นเป็นที่แรก และทำให้มันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยเองก็เริ่มนำเข้าสายพันธุ์ปลาชนิดนี้เข้ามา และพยายามเพาะเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์เพื่อทำโครงสร้างให้มีลักษณะสวยงามและเหมาะกับการเลี้ยงดูในตู้ปลาตามความนิยมของผู้เลี้ยงบ้านเราให้ได้


ริวกิ้นในอดีตเป็นปลาโครงสร้างยาว มีวุ้นที่หน้าเล็กน้อย ครีบเครื่องต่างๆ ไม่ได้ใหญ่และกางตั้งเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งฟาร์มปลาทองในไทยมองเห็นโอกาสและพัฒนาสายเรื่อยมาเป็นเวลานับสิบปี จนสามารถสร้างจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์บริเวณครีบเครื่องต่างๆ ที่มีความสวยงาม ครีบหลังที่เป็นแผ่นใหญ่ กางตั้งแผ่ออกตลอดเวลา


ในส่วนของประเทศจีนที่ถือเป็นต้นกำเนิดของปลาริวกิ้นเองนั้นก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาสายพันธุ์ของเขา จีนยังคงพัฒนาสายพันธุ์ริวกิ้นมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถสร้างลักษณะเด่นอีกรูปแบบซึ่งต่างจากริวกิ้นของไทย

ลำตัวริวกิ้นของจีนจะอ้วนกลม มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีหางที่สั้น และที่โดดเด่นเป็นอย่างมากคือเรื่องสีสันที่สดใสและมีความหลากหลาย ทำให้มันเป็นปลาที่อ้วนกลม สีสันสวยงาม ดูน่ารักน่าชังกว่าปลาทองสายพันธุ์ไหนๆ

แน่นอนว่าความสวยงามแบบนี้เป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดานักเลี้ยงและฟาร์มปลาทองบ้านเราอย่างไม่ต้องสงสัย ผลคือริวกิ้นสายพัฒนาของจีนถูกนำเข้ามาขายตีตลาดในบ้านเราอย่างรวดเร็ว รวมถึงการนำเข้ามาเพาะพันธุ์ในไทยด้วย ในเวลานั้นการมีปลาทองริวกิ้นสวยๆ ทั้งสายพันธุ์ไทยและจีนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีของผู้เลี้ยง ทุกอย่างดูจะเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยไม่มีใครคาดคิดว่า การมาของริวกิ้นหางสั้นจากจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดริวกิ้นหางยาวของไทยอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา


ความสวยงามอ้วนกลมน่ารักของริวกิ้นจีนในช่วงนั้นบดบังรัศมีของริวกิ้นไทยให้น้อยลงไปเรื่อยๆ สีสันอันโดดเด่นของริวกิ้นจีนดึงดูดนักเลี้ยงปลาอย่างไม่ต้องสงสัย นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ไม่ได้ประกวดปลาก็เริ่มหันมาเลี้ยงริวกิ้นจีนกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกเหนือจากความน่ารักของริวกิ้นจีนแล้วนั้น เหตุผลหลักคือการดูแลที่ง่ายกว่า ริวกิ้นจีนเป็นปลาที่ดูแลง่าย ด้วยครีบเครื่องต่างๆ โดยเฉพาะใบหางที่สั้นกว่า โอกาสที่ปลาจะเสียหายมีน้อยกว่า ในขณะที่ริวกิ้นไทยเป็นลักษณะของปลาหางยาว โอกาสที่ปลาจะหางพับหรือเกิดความเสียหายมีได้ง่ายกว่า จึงต้องดูแลมากเป็นพิเศษ

ผลคือยอดขายริวกิ้นไทยในประเทศตกต่ำลงเช่นเดียวกับยอดการส่งออก จึงกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฟาร์มปลาทองหลายๆ แห่งเริ่มปรับตัวมาเน้นการเพาะออรันดาและสิงห์เป็นหลัก ด้วยราคาต่อตัวที่ดีกว่าริวกิ้น อีกทั้งการดูแลโดยรวมก็แทบไม่ต่างกัน แต่ความนิยมของผู้เลี้ยงมีมากกว่าริวกิ้นเป็นเท่าตัว



ปัจจุบันยังมีฟาร์มที่เพาะปลาทองริวกิ้นไทยอยู่บ้าง แต่ก็เหลือเพียงไม่กี่ราย และส่วนใหญ่จะป้อนลูกค้ากลุ่มเฉพาะที่ต้องการเน้นปลาเกรดประกวดที่ยังมีประเภทของริวกิ้นแบบไทยรองรับ หรือเกรดสวยที่เอาไว้เลี้ยงเล่นที่บ้าน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นริวกิ้นไทยหรือริวกิ้นจีน ความน่ารักและสง่างามก็ยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้ริวกิ้นได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งปลาทองไวด์วิว (side view) ต่อไป

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม